พุดซ้อน

ในวรรณคดี :
ช่อตะแบกสัตตบุษย์พุดซ้อน
จำปีมลุลีมะลิลา
กลิ่นขจรฟุ้งจับนาสา
พิกุลกรรณิการ์สารภี
(รามเกียรติ์ – พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1)

เจ้าโมรากรีดเล็บเก็บจำปี
ให้ประภาวดีศรีสมร
เจ้าวิเชียรเก็บกระถินกลิ่นขจร
กับพุดซ้อนตามส่งให้จงกล
(พระอภัยมณี – สุนทรภู่)

พุดซ้อน ถิ่นเดิมของพุดซ้อนเข้าใจว่าอยู่ในประเทศจีน และเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับเข็มพวงขาว กระทุ่ม และกาแฟ มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆคือ เคตถวา พุดจีน และพุดใหญ่

ลักษณะ : พุดซ้อนเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1-2เมตร แตกกิ่งแขนงมาก ลำต้นเรียวเป็นรูปกรวย ใบเดี่ยว รูปหอก ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีสีเขียวมน ดอกเดี่ยวสีขาวออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลีบเลี้ยงหนาเป็นสัน มีทั้งชนิดดอกลา คือกลีบดอกชั้นเดียว และชนิดดอกซ้อน มีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกัน เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 ซม. กลิ่นหอมแรง ออกดอกตลอดปี

การปลูกเลี้ยง : พุดซ้อน เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการแสงแดดจัด ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

ประโยชน์ : นิยมนำไปร้อยพวงมาลัยบูชาพระ เมล็ดสีเหลืองทอง ใช้แต่งสีอาหารและทำสีย้อม ส่วนดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำน้ำหอมและแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง